เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

[148] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์ก็นับว่ายอดเยี่ยม อาเทสนาปาฏิหาริย์ 4
ประการนี้ คือ
1. บุคคลบางคนในโลกนี้ ดักใจได้ด้วยนิมิตว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้
ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ 1
2. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต แต่ได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วจึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่าน
เป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่าน
เป็นดังนี้’ ถ้าเขาดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้น
ทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ 2
3. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต ทั้งมิได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจได้เลย แต่ได้ฟังเสียง
ละเมอของผู้วิตกวิจาร จึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจ
ของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ 3
4. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต มิได้ฟังเสียงของมนุษย์
อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจ ทั้งมิได้ฟังเสียงละเมอของผู้
วิตกวิจาร แล้วดักใจได้เลย แต่ย่อมกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิ ซึ่งยัง
มีวิตกวิจารด้วยใจได้ว่า ‘มโนสังขารของท่านผู้นี้ตั้งอยู่ด้วยประการใด
เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตนี้ ด้วยประการนั้น’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็น
อย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ 4
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :108 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [5. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

[149] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องทัสสนสมาบัติก็นับว่ายอดเยี่ยม ทัสสนสมาบัติ 4 ประการนี้ คือ
1. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส1
ความเพียรที่ตั้งมั่น2 ความหมั่นประกอบ3 ความไม่ประมาท4 และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี5แล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณากายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต6 หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร7’ นี้เป็นทัสสนสมาบัติประการที่ 1

เชิงอรรถ :
1 ความเพียรเครื่องเผากิเลส หมายถึงความเพียรที่กำจัดความเกียจคร้านที่เป็นสังกิเลส (ที.ปา.อ. 149/
75, ที.ปา.ฏีกา 149/86)
2 ความเพียรที่ตั้งมั่น หมายถึงความพยายามที่มุ่งตรงต่อภาวนา (ที.ปา.อ. 149/75, ที.ปา.ฏีกา 149/86)
3 ความหมั่นประกอบ หมายถึงการประกอบความเพียรสม่ำเสมอ (ที.ปา.อ. 149/75, ที.ปา.ฏีกา 149/86)
4 ความไม่ประมาท หมายถึงความไม่หลงลืมสติขณะปฏิบัติธรรม คือมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา (ที.ปา.อ.
149/75, ที.ปา.ฏีกา 149/75)
5 การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี หมายถึงการพิจารณาโดยอุบายวิธีที่แยบคาย เช่น พิจารณาว่าไม่เที่ยงในสิ่ง
ที่ไม่เที่ยง พิจารณาว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ (ที.ปา.อ. 149/75, ที.ปา.ฏีกา 149/75)
6 คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้แปลคำว่า วักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ 2 ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง 2 ผล ที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกันมีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้ว
แยกออกห้อยอยู่ทั้ง 2 ข้าง (ขุ.ขุ.อ. 3/43) ; พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แปล “วักกะ”
ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ “ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A Concise Pali-English Dictionary,
Rhys Davids, T.W.Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง
“ไต” (Kidney)
7 มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. 3/51)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :109 }